ผลคัดกรองมะเร็งปากมดลูกผิดปกติ…ทำอย่างไรดี?
แน่นอนว่ามะเร็งปากมดลูกเป็นสาเหตุการตายลำดับต้นๆของมะเร็งที่พบในสตรี ไม่ว่าจะของประเทศไทย หรือของโลกก็ตาม ทุกๆชั่วโมงจะมีผู้หญิงเสียชีวิต จากโรคนี้หนึ่งคนด้วยเหตุผลนี้ ในปัจจุบันเราจึงมีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเพื่อหาความผิดปกติก่อนที่จะเป็นมะเร็งหรือหาระยะก่อนมะเร็ง และให้การรักษาเพื่อตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ไม่ให้มะเร็งเกิดขึ้นหลายท่าน ตรวจคัดกรองเป็นประจำปีไหนไม่เจออะไรก็โล่งไปแต่พอมีจดหมายมาที่บ้าน แจ้งว่า…ผลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกพบความผิดปกติกรุณาพบแพทย์ หลายๆท่านก็ตกใจ
การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกหรือแพพสเมียร์ (Pap smear)มีการตรวจพบความผิดปกติได้หลายแบบ ทั้งชนิดความรุนแรงต่ำ หรือ LSIL(Low grade squamous intraepithelial lesion)ชนิดที่มีความรุนแรงสูง หรือ HSIL(High grade squamous intraepithelial lesion) ไปจนกระทั้งตรวจพบมะเร็งปากมดลูก
การตรวจคัดกรองพบความผิดปกติไม่ได้หมายถึงมะเร็งเสมอไปเพียงแต่ ตอนนี้ท่านมีความผิดปกติบางอย่างปะปนอยู่โดยมาก โอกาสเป็นมะเร็ง น้อยกว่า 1%
เว้นแต่ผลออกมาความเสี่ยงมะเร็งสูงซึ่งจะแจ้งไว้อย่างชัดเจน
เรามีวิธีการตรวจเพิ่มเติม คือการส่องกล้องกำลังขยายสูงที่ปากมดลูกครับเพื่อหารอยโรคที่ตาเปล่า มองไม่เห็น หรือมองไม่ชัดเจนครับ เรียกว่า Colposcopy (คอลโปสโคปี)เมื่อตรวจเสร็จ แพทย์ผู้ตรวจจะตัดชิ้นเนื้อเล็กๆบริเวณที่สงสัยไปส่งตรวจทางชิ้นเนื้อวิทยาและให้การรักษาตามความผิดปกตินั้นๆ
นอกจากนี้ในวิวัฒนาการทางการแพทย์สมัยใหม่ยังมีวัคซีนที่ใช้ป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกนั่นคือ HPV vaccine และเราทราบแล้วว่ามะเร็งปากมดลูกนั้น เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) สายพันธุ์ความเสี่ยงสูง หลักๆได้แก่ สายพันธุ์ที่ 16, 18 และอื่นๆได้แก่ 31, 33, 45, 52 และ 58นอกจากนั้นยังมีสายพันธุ์ที่ ทำให้เกิดหูด ได้แก่ สายพันธุ์ 6 และ 11และในประเทศไทย มีให้ฉีดทั้งชนิดป้องกัน 2, 4 และ 9 สายพันธุ์ มีการศึกษาหนึ่งของสหรัฐอเมริกาบอกว่าถ้าเราตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุกปี เราจะลดโอกาสการเป็นมะเร็งปากมดลูกลงได้ ร้อยละ 70 แต่ถ้าเราฉีดวัคซีน ร่วมด้วยเราแทบจะไม่มีโอกาสที่เราจะเป็นมะเร็งในอนาคตเลย
บทความโดย
พ.ต.ท. นพ. ภาคภูมิ เตชะขะวนิชกุล แพทย์มะเร็งวิทยานรีเวข รพ.ตำรวจสำนักงานตำรวจแห่งชาติ