โรคกระดูกพรุนถือว่าเป็นอุบัติภัยเงียบมักจะไม่แสดงอาการปวดและไม่มีอาการอื่นๆ ที่เป็นสัญญาณเตือน จนกว่าจะเกิดกระดูกหักจากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง ภาวะแทรกซ้อนตามมาที่สำคัญหลังจากเกิดกระดูกหักในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนคือ การเกิดกระดูกหักซ้ำ และอัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้นถึง 20% โดยเฉพาะภายใน 1 ปีแรกหลังเกิดกระดูกหัก ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง รวมทั้งมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลที่สูงขึ้น จากการศึกษาในโรงพยาบาลตำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2556 พบว่า ผู้ป่วยที่เกิดกระดูกสะโพกหักจากโรคกระดูกพรุนที่เข้ามารับการผ่าตัดรักษาในโรงพยาบาลตำรวจ จำนวน 120 ราย มีอัตราการเสียชีวิตที่ 1 ปี อยู่ที่ 9% ซึ่งสูงกว่าอัตราการเสียชีวิตในประชากรทั่วไปถึง 3.3 เท่า โดยผู้ป่วยประมาณ 70% มีประวัติการหกล้มซ้ำและ 30% ของผู้ป่วยที่หกล้มซ้ำพบว่ามีกระดูกหักซ้ำและจำเป็นต้องมาผ่าตัดรักษา ในแง่การตรวจวินิจฉัยพบว่ามีการตรวจความหนาแน่นของกระดูกเพียงแค่ 10% เท่านั้น ในแง่ของการให้ยารักษาโรคกระดูกพรุนพบว่าที่ 3 เดือนมีการให้ยารักษา 40% และลดลงเหลือเพียง 5% ที่ 1 ปี ในแง่ของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการผ่าตัดรักษาในกรณีที่เกิดกระดูกหักซ้ำจะอยู่ที่ประมาณ 180,000 - 250,000 บาทต่อคน ต้องนอนรักษาต่อเนื่องในโรงพยาบาลอีก 10-14 วัน และต้องใช้เวลาในการพักฟื้นอีก 2-3 เดือนเป็นอย่างน้อย ทำให้เห็นว่าการเกิดกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนนั้นเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญ มีผู้ป่วยจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างครบวงจร ยังไม่มีแนวทางการดูแลรักษาที่รวดเร็ว ถูกต้องและเป็นมาตรฐาน โดยเฉพาะหลังจากเกิดกระดูกหักครั้งแรก ทำให้เกิดปัญหากระดูกหักซ้ำและอัตราการตายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เป็นภาระทางด้านสังคมและเศรษฐกิจต่อทั้งผู้ป่วย ญาติที่ดูแล สังคม โรงพยาบาล และประเทศชาติ
จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ทางอนุสาขากระดูกพรุน กลุ่มงานศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลตำรวจ โดยมี พ.ต.ท. นพ.ธนวัฒน์ อำพันทรัพย์ ประธานโครงการฯ และ พล.ต.ต. นพ.พีระชัย ดำรงค์วานิช ที่ปรึกษาโครงการ จัดตั้งโครงการ Police general hospital’s Fracture Liaison service ขึ้น โดยเป็นโครงการที่ขอความร่วมมือและประสานการทำงานระหว่างกลุ่มสหวิชาชีพทางการแพทย์ ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ พยาบาล นักกายภาพ นักโภชนากร และทีมเยี่ยมบ้าน เป้าหมายเพื่อเป็นการสร้างและพัฒนาแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุนอย่างครบวงจร ได้มาตรฐาน ทันสมัย ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและหน่วยงาน มีการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ป่วยและญาติในแง่ของการรักษาด้วยยา การออกกำลังกาย การป้องกันการพลัดตกหกล้ม การจัดสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกบ้าน เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดตามมาโดยเฉพาะการเกิดกระดูกหักซ้ำ ซึ่งจะส่งผลต่อการลดอัตราการตายภายใน 1 ปีแรก
วัตถุประสงค์ของโครงการ
1. วัตถุประสงค์หลัก
เพื่อลดอัตราการเกิดภาวะกระดูกหักซ้ำของผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกพรุน และลดอัตราการตายในช่วง 1 ปี หลังจากเข้าร่วมโครงการ
2. วัตถุประสงค์รอง
เพื่อส่งเสริมและเพิ่มการส่งตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก และส่งเสริมให้ผู้ป่วยกระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุนได้รับการรักษาตามแนวทางที่ได้มาตรฐาน ครบถ้วนและรวดเร็ว
(คลิกที่รูป เพื่อดูรูปขนาดใหญ่)
ผลการดำเนินการและผลลัพธ์หลังจากมีโครงการ (ที่ 14 เดือน) พบว่า
1. อัตราการผ่าตัดข้อสะโพก มีอัตราเพิ่มขึ้นจาก 82.5% เป็น 86.6% แม้ว่าจะไม่มากนัก เนื่องจากสาเหตุหลักที่ผู้ป่วยไม่ได้รับการผ่าตัดเกิดจากสภาพของผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงจากอายุที่มากขึ้นและโรคประจำตัวที่มากขึ้น ทำให้บางครั้งไม่สามารถผ่าตัดผู้ป่วยได้
2. การเกิดกระดูกหักซ้ำ พบว่าสามารถลดอุบัติการณ์การเกิดกระดูกหักซ้ำได้อย่างชัดเจนจาก 30% เหลือเพียง 1.02% เหตุผลเพราะทางโครงการมีแผนงานที่ชัดเจนในการให้ความรู้ ให้การป้องกันการหกล้มซ้ำ รวมทั้งมีการให้การรักษาโรคกระดูกพรุนอย่างเป็นระบบมากขึ้น เมื่อจำนวนการหกล้มของผู้ป่วยลดลงจะส่งผลให้เกิดกระดูกหักซ้ำลดลงด้วย
3. การส่งตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก พบว่ามีการส่งตรวจมากขึ้นจาก 10% เป็น 40% แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยและได้รับการดูแลจากทีมแพทย์และพยาบาลดีขึ้น
4. การไม่มาตรวจติดตามการรักษา พบว่าลดลงจาก 40% ลดเหลือ 13% เนื่องจากผู้ป่วยมีความเข้าใจและตระหนักเห็นความสำคัญของการมารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
5. การได้รับยารักษาโรคกระดูกพรุน พบว่ามีการสั่งยารักษามากขึ้นทั้งในส่วน Calcium, Vitamin D และยารักษาโรคกระดูกพรุน เพิ่มขึ้นจาก 3.6% เป็น 66.33%
6. อัตราการเสียชีวิตที่ 1 ปี พบว่าอัตราการเสียชีวิตลดลงอย่างชัดเจน จาก 9.16% เหลือเพียง 4.08% แสดงให้เห็นว่าทางโครงการสามารถลดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของการเกิดกระดูกหักซ้ำในโรคกระดูกพรุนได้
7. ความพึงพอใจ ต่อโรงพยาบาลตำรวจโดยรวม 4.7 คะแนนจากคะแนนเต็ม 5 โดยยังไม่มีข้อร้องเรียนหรือข้อปรับปรุง
(คลิกที่รูป เพื่อดูรูปขนาดใหญ่)
ประโยชน์ที่ได้รับ
1. มีการลดลงของการเกิดกระดูกหักซ้ำ และมีการลดลงของอัตราการตายภายใน 1 ปี
2. มีการเพิ่มขึ้นของการส่งตรวจความหนาแน่นของกระดูก และผู้ป่วยที่เข้าโครงการได้รับยารักษาโรคกระดูกพรุนที่เหมาะสมมากขึ้น
3. ผู้ป่วยและญาติมีความเข้าใจและพร้อมที่จะร่วมมือป้องกันการเกิดกระดูกหักซ้ำ ถือเป็นการดูแลรักษาเชิงรุกแบบหนึ่ง
4. เป็นการลดขั้นตอนและระยะเวลาในการให้บริการ เนื่องจากมีทีมงานเข้าไปดูแลตั้งแต่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วย โดยทีมงานจะทำหน้าที่ประสานงานกันตามแผนผังของโครงการ โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลาในการติดต่อประสานงานเอง
5. ผู้ป่วยและญาติมีความพึงพอใจในการรับบริการจากโครงการมากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยจะได้รับการดูแลแบบครบวงจร ได้มาตรฐาน สะดวกและรวดเร็วขึ้น
6. สามารถลดภาระและค่าใช้จ่ายของครอบครัวและสังคมในการดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะถ้าต้องมารับการผ่าตัดรักษาเมื่อเกิดกระดูกหักซ้ำ
7. โรงพยาบาลและภาครัฐสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายประมาณ 180,000 – 250,000 บาทต่อราย ในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดกระดูกหักซ้ำและต้องผ่าตัดรักษา
นอกจากนี้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ทางโครงการฯ ได้ผ่านการประเมินและได้รับการรับรองคุณภาพ 5 ด้านในแง่การดูแลรักษาคนไข้กระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนในระดับนานาชาติได้แก่
o ด้านคุณภาพการรักษากระดูกสะโพกหัก
o ด้านคุณภาพการรักษากระดูกสันหลังหัก
o ด้านคุณภาพของแผนกผู้ป่วยนอก
o ด้านคุณภาพของหอผู้ป่วยใน
o ด้านคุณภาพขององค์กร
(คลิกที่รูป เพื่อดูรูปขนาดใหญ่)
โดยองค์กร International Osteoporosis Foundation (IOF) ได้มอบรางวัลระดับเหรียญทอง (Gold medal) ซึ่งเป็นรางวัลในระดับสูงสุด และยังได้รับการติดเครื่องหมายดาวสีทอง (Gold star) ในแผนที่โลกของเว็บไซด์ขององค์กรด้วย (www.capturethefracture.org/map-of-best-practice) ซึ่งโรงพยาบาลตำรวจเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้
(คลิกที่รูป เพื่อดูรูปขนาดใหญ่)
และเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2559 โครงการฯ ยังได้รับรางวัล นวัตกรรมการบริการภาครัฐเป็นเลิศ ประจำปี 2559 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) อีกด้วย
คณะกรรมการโครงการ Police General Hospital ‘s Liaison project
1. แพทย์ศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลตำรวจ ดังมีรายชื่อดังนี้
- พลตำรวจตรี พีระชัย ดำรงค์วานิช ที่ปรึกษาคณะทำงาน
- พันตำรวจเอกหญิง ทัศพร มั่นพรหม ที่ปรึกษาคณะทำงาน
- พันตำรวจโท ธนวัฒน์ อำพันทรัพย์ ประธานคณะทำงาน
- พันตำรวจเอก จารุวัตร เวชศิลป์ คณะทำงาน
- พันตำรวจตรี พฤทธิพันธ์ แพรกทอง คณะทำงาน
- พันตำรวจตรี เอกพล ตั้งมานะสกุล คณะทำงาน
2. แพทย์ประจำบ้านศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลตำรวจ ดังมีรายชื่อดังนี้
- นายแพทย์ นิติรัตน์ สถิตย์กิตติ เลขานุการ
3. พยาบาลประจำกลุ่มงานออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลตำรวจ ดังมีรายชื่อดังนี้
- พันตำรวจโทหญิง โสภิตรา ดิวทยา คณะทำงาน
- พันตำรวจโทหญิง วีณา สอนกล้า คณะทำงาน
- พันตำรวจโทหญิง จิตต์สิน บุญยิ่งสถิตย์ คณะทำงาน
- พันตำรวจโทหญิง มัธติกา เขม้นเขตวิทย์ คณะทำงาน
- พันตำรวจโทหญิง ขวัญใจ โชคศิริ คณะทำงาน
- ร้อยตำรวจเอกหญิง อาทิตยา พุ่มน้อย คณะทำงาน
- ร้อยตำรวจเอกหญิง เสาวลักษณ์ แสงวงษ์งาม คณะทำงาน
- ร้อยตำรวจเอกหญิง อภิรมย์ ทะดวงศร คณะทำงาน
- ว่าที่ร้อยตำรวจเอกหญิง ลิ้นจี่ จารุจิตร คณะทำงาน
- ร้อยตำรวจโทหญิง รพีพรรณ ศรีสุข คณะทำงาน
- ร้อยตำรวจโทหญิง พัสตาภรณ์ วัฒนพิมล คณะทำงาน
- ร้อยตำรวจโทหญิง ปาริชาต คำผุย คณะทำงาน
4. พยาบาลทีมเยี่ยมบ้าน โรงพยาบาลตำรวจ ดังมีรายชื่อดังนี้
- พันตำรวจโทหญิง ยุภาพร ชาตะมีนา คณะทำงาน
- พันตำรวจโทหญิง พัชนี พุ่มภักดี คณะทำงาน
5. นักกายภาพบำบัด โรงพยาบาลตำรวจ ดังมีรายชื่อดังนี้
- ร้อยตำรวจโทหญิง ธนิญญา ลิขิตธนสมบัติ คณะทำงาน
6. นักโภชนากร โรงพยาบาลตำรวจ ดังมีรายชื่อดังนี้
- พันตำรวจเอกหญิง ภิญญดา มานะวัชรเดช คณะทำงาน
อ่านข่าว : โครงการป้องกันกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนระยะที่ 6 กลุ่มงานออร์โธปิดิกส์ รพ.ตร. ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ IOF ให้คะแนนในระดับสูงสุด (Gold medal)
อ่านข่าว : โครงการป้องกันกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนระยะที่ 6 กลุ่มงานออร์โธปิดิกส์ รพ.ตร. ได้รับรางวัลนวัตกรรมการบริการภาครัฐเป็นเลิศ ประจำปี 2559 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)
สามารถสอบถามรายละเอียดของโครงการเพิ่มเติมได้ที่ พ.ต.ท. นพ.ธนวัฒน์ อำพันทรัพย์ กลุ่มงานออร์โธปิดิกส์โรงพยาบาลตำรวจ เบอร์ติดต่อ 022535836 (ในเวลาทำการ)