Slide background
Slide background
Slide background
Slide background

กรมสุขภาพจิตมักจะใช้คำว่าเราต้อง “อึด ฮึด สู้” แต่คนเราเวลาเครียด มักจะมีแค่อึดกับฮึด แต่ไม่ลงมือทำ

โพสต์เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2565 เวลา 12:01:50 | ประกาศ และประชาสัมพันธ์

  • 897 ครั้ง

กรมสุขภาพจิตมักจะใช้คำว่าเราต้อง “อึด ฮึด สู้” แต่คนเราเวลาเครียด มักจะมีแค่อึดกับฮึด แต่ไม่ลงมือทำ เลยไม่มีสามารถกลับมา “สู้” ได้อีกครั้ง. แล้วเราจะทำอย่างไรให้คนที่กำลังเครียดอยู่ ลุกขึ้นมาสู้ได้ใหม่ มีคำแนะนำจาก คุณหมอวิ แพทย์หญิงวิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 มาฝากกัน

1.ดูแลจิตใจด้วย “สติ” : ลองถามตัวเองดูว่า รู้ตัวหรือเปล่าว่าตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่ เรากำลังเอาแต่คิดมากไม่จบสิ้นใช่หรือไม่ ถ้าใช่ ก็จะได้หยุด แล้วไปเริ่มต้นลงมือทำเสียที หรือหากตอนนี้เป็นเวลาพักผ่อน ก็ต้องบอกตัวเองให้ไปชาร์จพลังด้วยการนอนซะ แล้วค่อยลุกขึ้นมาแก้ปัญหาใหม่ ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยการฝึกสติหรือการมี Mindfulness เพื่อให้เรารู้เท่าทันจิตใจที่กำลังคิดฟุ้งซ่าน แล้วดึงกลับมาอยู่เป็นหนึ่งเดียวกับปัจจุบันได้นั่นเอง

2.หาเวลาพักผ่อนนอนหลับให้เต็มที่ : เพราะถ้าไม่นอนแล้วจะมีแรงลุกขึ้นมาสู้ได้อย่างไร แต่สำหรับใครที่นอนไม่หลับ คุณหมออธิบายว่า อาจเป็นเพราะเราใช้สมองคิดหมกมุ่นอยู่อย่างเดียว แต่ไม่ใช้ร่างกายเลย ดังนั้น ให้ลองปล่อยพลังไปกับการออกกำลังกาย เพราะนอกจากจะทำให้เราออกห่างจากเรื่องที่เราเครียดแล้ว ยังทำให้ร่างกายเหนื่อยและสามารถหลับได้ง่ายขึ้น แต่ถ้ายังนอนไม่หลับซักที แทนที่จะฝืนข่มตาหลับไปเรื่อย ๆ คุณหมอแอบบอกเคล็ดลับอีกนิด นั่นคือให้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนอิริยาบถ ทำกิจกรรมเบา ๆ ดูทีวี หรือดื่มนมอุ่น ๆ เพื่อขัดจังหวะให้ร่างกายรีเซ็ตตัวเอง และกลับเข้าสู่วงจรความง่วงใหม่ ซึ่งสุดท้ายถ้ายังนอนไม่หลับอยู่อีกแนะนำให้ปรึกษาแพทย์

3.เขียนระบายออกมา เพื่อมองเห็นปัญหาของตัวเอง : คุณหมออยากให้เราลองสังเกตว่า เวลาที่เราเครียด เราจะคิดมากไปเรื่อย ๆ ไปเรื่องนั้นต่อเรื่องนี้ แต่จับประเด็นไม่ได้สักที จึงไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหายังไง ถ้าอย่างนั้น เราอาจจะลองเขียนสิ่งที่สับสนวนเวียนอยู่ในหัวนั้นออกมา เพื่อให้เห็นว่าปัญหามีกี่อย่าง มีอะไรบ้างกันแน่ แล้วค่อย ๆ ไล่แก้ไขไปทีละเรื่อง ซึ่งเป็นวิธีที่ฮีลใจตัวเองได้ดีเช่นกัน

4.หาเวลาผ่อนคลายให้ตัวเอง : สุดท้ายเป็นเรื่องของการแบ่งเวลา ต้องจัดเวลาผ่อนคลายให้ตัวเองได้ทำสิ่งที่ชอบบ้าง ไม่ใช่เครียดอยู่ตลอดเวลา อาจจะนั่งฟังเพลง หนีไปดูซีรีส์ ออกกำลังกาย ทำอะไรที่ชอบ จะช่วยให้ร่างกายสดชื่นขึ้น และได้ลุกออกจากความคิดที่ดำดิ่งลงไปเรื่อย ๆ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

แชร์ข่าวนี้ :
Top