หมอชวนรู้ ตอนที่ 11 ข้อเท็จจริงที่ควรรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าคืออะไร และ แนวทางการดูแลรักษาโรคนี้อย่างถูกวิธีคืออะไร
โรคซึมเศร้าคืออะไร
ก่อนอื่นควรต้องแยกให้ได้ว่า อะไรคือ อารมณ์ซึมเศร้า และ อะไรคือ โรคซึมเศร้า อารมณ์ซึมเศร้า เป็นอารมณ์ธรรมดาที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะ ในชีวิตของคนทุกคนย่อมมีช่วงเวลาเศร้า หรือ ทุกข์ใจบ้างเป็นธรรมดา
แต่เมื่อไหร่ ถึงจะบอกว่า ความเศร้านี้ ไม่ใช่ปฏิกิริยาทางใจธรรมดา แต่คือ "โรคซึมเศร้า"
โรคซึมเศร้า ประกอบด้วยอาการต่างๆดังนี้
1. อารมณ์ซึมเศร้า หงุดหงิด ไม่สดชื่น มีอาการเกือบตลอดวัน
2. ขาดความสนใจสิ่งรอบข้าง สิ่งที่เคยชอบ ก็ไม่สนใจ เบื่อหน่ายไปหมด
3. เบื่ออาหาร น้ำหนักลด กินน้อยลง หรือ บางคนอาจเป็นแบบตรงข้ามคือ กินจุมากขึ้น น้ำหนักเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 5 ใน 1 เดือน
4. นอนไม่หลับ นอนได้น้อยลง หรือ บางคนตรงข้ามกลายเป็น นอนมากขึ้น นอนทั้งวัน
5. เชื่องช้า ทำอะไรก็เชื่องช้าไปหมด หรือ บางคนอาจเป็นตรงข้ามกระวนกระวายกว่าปกติ
6. รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีเรี่ยวมีแรง
7. ตำหนิตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า หรือ รู้สึกผิดง่ายกว่าปกติ
8. สมาธิเสีย ทำอะไร ไม่ค่อยมีสมาธิ รู้สึกลังเล สงสัยมากขึ้นกว่าปกติ
9. คิดเรื่องการฆ่าตัวตาย หรือ อยากฆ่าตัวตาย
การบอกถึงว่าน่าจะมีโรคซึมเศร้าคือ มีอาการ 5 อาการ จาก 9 อาการที่กล่าวมา และ ต้องเป็นต่อเนื่องทุกวันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป จึงจะสงสัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า
โรคนี้ไม่ได้เป็นโรคที่น่ากลัว มีทางรักษาให้หายได้ ยิ่งมารักษาแต่เนิ่นๆ จะยิ่งรักษาได้ผลดี
สาเหตุการเกิดโรค
หลักฐานทางการแพทย์ในขณะนี้ พบว่าโรคนี้เกิดจากสารสื่อประสาทในสมองที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์เสียสมดุล สารสื่อประสาทนั้นชื่อว่า เซโรโทนิน (serotonin) และ นอร์อิพิเนฟริน (norepinephrine)
การรักษาโรคซึมเศร้า
1. การรับประทานยาต้านเศร้า เนื่องจากโรคนี้ เกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาทในสมองด้านอารมณ์เศร้า คือ เซโรโทนิน (serotonin) และ นอร์อิพิเนฟริน (norepinephrine)
เสียสมดุลไป จึงทำให้เกิดความซึมเศร้ามากผิดปกติ การรับประทานยาต้านเศร้าจะช่วยให้สารสื่อประสาทเหล่านี้กลับมาสมดุล เมื่อสารเหล่านี้กลับสู่ภาวะปกติ อารมณ์ก็จะกลับมาเป็นปกติ
2. การรักษาทางจิตใจ เช่น การทำจิตบำบัด การปรับวิธีคิด เป็นต้น ซึ่งเป็นวิธีรักษาที่สำคัญควบคู่กับการรับประทานยาต้านเศร้า
3. การอยู่โรงพยาบาล ในกรณีที่มีความเสี่ยงเรื่องการฆ่าตัวตาย การอยู่โรงพยาบาลเป็นสิ่งจำเป็น และ ปลอดภัย เพื่อให้ผ่านพ้นช่วงภาวะวิกฤติ
4. การดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยซึมเศร้า
4.1 ไม่ควรตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆในชีวิต เพราะ โอกาสตัดสินผิดพลาดสูงมาก เพราะ อารมณ์ไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ
4.2 พยายามอย่าคิดอะไรมากนัก เพราะ ยิ่งคิดจะวนกลับไปเป็นด้านลบ ด้วยตัวโรค
4.3 หากิจกรรมสบายๆ ทำ ที่ไม่เครียดไม่กดดัน
4.4 อย่ากดดัน เร่งรัดตัวเองว่าต้องรีบหาย สิ่งสำคัญคือการรักษาตัวเองอย่างถูกวิธี จะช่วยให้อาการดีขึ้นเป็นลำดับ
5. สำหรับญาติ หรือ คนใกล้ชิด
ความรักและความเข้าใจ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ไม่ควรคาดหวัง หรือ กดดันว่าผู้ป่วยว่าต้องหายไวๆ หรือ บอกว่าไม่เป็นไร ทำใจสบายๆ จะดีขึ้นเอง ผู้ป่วยฟังกลับจะยิ่งรู้สึกแย่ลง เหมือนคนพูดไม่เข้าใจ เพราะ โรคนี้เกิดจากสารสื่อประสาทในสมอง จำเป็นต้องใช้เวลาในการรักษาตามขั้นตอนต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น
********************************************
บทความโดย ผศ.พญ. ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล
ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์
รับรองโดย ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
https://tmc.or.th/pdf/tmc_knowlege-11.pdf
https://www.naewna.com/lady/columnist/41704